งานไทยเฟสติวัล 2024 ณ กรุงปักกิ่ง เวทีส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนและประชาสัมพันธ์การศึกษาไทย

(People's Daily Online)วันอังคาร 25 มิถุนายน 2024
งานไทยเฟสติวัล 2024 ณ กรุงปักกิ่ง เวทีส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนและประชาสัมพันธ์การศึกษาไทย
นายฉัตรชัย วิริยเวชกุล เอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง ถ่ายภาพร่วมกับนางสาวพสุภา ชินวรโสภาค (ด้านขวาสุด) อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำ สอท. และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในงานเทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่ง ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2567 (เอื้อเฟื้อภาพจากนางสาวพสุภา)

งานเทศกาลไทย หรือไทยเฟสติวัลถือเป็นเวทีส่งเสริมความสัมพันธ์ระดับประชาชนมายาวนาน ในปีนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงปักกิ่ง (สอท.) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 9 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา และในโอกาสนี้พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์ได้มีโอกาสสัมภาษณ์นางสาวพสุภา ชินวรโสภาค อัครราชทูตที่ปรึกษา ฝ่ายอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ประจำ สอท. (อว.) ในเรื่องการนำเสนอสถาบันการศึกษาที่มีคุณภาพของไทยในงานฯ

นางสาวพสุภาให้ข้อมูลว่า ในปีนี้ได้เชิญมหาวิทยาลัยชั้นนำมาร่วมจัดนิทรรศการทั้งหมด 9 แห่ง ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยบูรพา, เทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งล้วนเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพและชาวจีนให้ความสนใจเข้าศึกษา รวมถึงโรงเรียนนานาชาติจากไทย เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชาวจีนทางตอนเหนือได้รู้จักมากขึ้น

จากการสัมภาษณ์คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่มาร่วมออกบูธ ส่วนใหญ่กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าคนจีนให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก เข้ามาสอบถามหลักสูตรต่าง ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับวิศวกรรมและภาษาต่างประเทศ โดย ดร.อุษณีย์ เลิศรัตนานนท์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดีพนมพยงค์ มธ. กล่าวว่า “เป็นโอกาสที่ดีที่ อว. เชิญมาร่วมประชาสัมพันธ์ในปักกิ่ง หลายหลักสูตรของ มธ. เปิดรับคะแนนเกาเข่า (เอ็นทรานซ์ของจีน) เช่น คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระในการสอบให้นักเรียนจีน และปัจจุบันมีนักเรียนจีนเรียนที่วิทยาลัยฯ ประมาณ 20 คน หวังว่าในอนาคตจะมีนักเรียนจีนไปเรียนมากขึ้น”

อาจารย์จาก ม.มหิดลให้ข้อมูลว่า การมาออกบูธครั้งนี้ทำให้ได้ทราบถึงความสนใจของชาวจีน ไม่เพียงแต่มีผู้สนใจในระดับมหาวิทยาลัย แต่ยังมีผู้ปกครองชาวจีนมาสอบถามเรื่องหลักสูตรช่วงซัมเมอร์แคมป์สำหรับเด็กเล็กด้วย

นางสาวพสุภากล่าวว่า “งานไทยเฟสติวัลที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี จะเน้นการแสดงวัฒนธรรมไทย อาหาร การละเล่น แต่ในปีนี้ เพิ่มความสำคัญในเรื่องการศึกษามากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันมีนักเรียนไทยมาเรียนในจีนประมาณ 30,000 คน และนักศึกษาจีนไปเรียนที่ไทยก็จำนวนเท่า ๆ กัน งานไทยเฟสติวัลทำให้เยาวชนจีนได้มาสัมผัสกิจกรรม หาความรู้เพิ่มเติมเพื่อเป็นทางเลือกในการศึกษาของตน และเป็นช่วงเวลาที่ดีเพราะเยาวชนจีนเพิ่งสอบเกาเข่าเสร็จ และกำลังมองหามหาวิทยาลัยอยู่ โดย ณ ตอนนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดรับสมัครเข้าเรียนโดยใช้คะแนนสอบเกาเข่ายื่นได้”

นอกจากนี้ อัครราชทูตที่ปรึกษาฯ ยังให้ข้อมูลเพิ่มเต���มเรื่องความร่วมมือของไทยและจีนในด้านวิทยาศาสตร์ โดยใน 1-2 ปีหน้า สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติของไทยจะร่วมส่งอุปกรณ์เพย์โหลด (payload) เพื่อร่วมตรวจสภาพอวกาศที่ดวงจันทร์ไปกับยานสำรวจฉางเอ๋อ-7 ของจีน

คณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในงานเทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่ง ในย่านซานหลี่ถุน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดลกำลังให้ข้อมูลแก่นักเรียนชาวจีนในงานเทศกาลไทย ณ กรุงปักกิ่ง ในย่านซานหลี่ถุน ภาพถ่ายเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2567 (พีเพิลส์ เดลี่ ออนไลน์)